มารยาท เป็นเรื่องที่ควรสอนให้เด็กตั้งแต่เล็กๆ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนและปลูกฝังให้เด็กแสดงพฤติกรรมต่อผู้ใหญ่ด้วยความเคารพ สุภาพ มีมารยาท และมีสัมมาคารวะ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ การกล่าวทักทาย การเดินผ่าน ล้วนมีกิริยาท่าทางที่เด็กควรปฏิบัติ เพื่อแสดงถึงความอ่อนน้อม ให้เกียรติ และมีมารยาทอันดีในสังคม ในบความนี้จะมาพูดถึงความหมายของมารยาท โรคมารยาททางสังคมบกพร่องคืออะไร และจะสอนลูกให้เป็นเด็กที่มีมารยาทตั้งแต่เด็กได้อย่างไรนั้นมาหาคำตอบจากบทความนี้กัน

ความหมายของมารยาท
มารยาท หมายถึง กริยา วาจาที่สุภาพ เรียบร้อย ที่บุคคลพึงปฏิบัติในสังคมโดยมี ระเบียบแบบแผน อัน เหมาะสมตามกาลเทศะ
ขอบข่ายมารยาทไทย เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็น ไทยไม่ว่าจะเป็น การไหว้การพูดจา วิธีการเรียกคนอื่นๆ ในสังคม เช่น เราเรียกแม่ค้า ขายส้มตำว่าป้า แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของคนไทยที่ไม่สามารถหาได้ในชาติอื่นๆ และสังคมที่ใกล้ชิดของคนไทย นอกจากนั้นมารยาทไทยยังครอบคลุมถึงกริยา วาจาต่างๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การรับของส่งของ การทำความเคารพ การแสดงกริยาอาการการรับประทานอาหาร การให้และรับบริการการทักทาย การสนทนา การใช้คำพูด การฟัง การใช้เครื่องมือสื่อสาร รวมทั้งการประพฤติ ปฏิบัติในพิธีการต่างๆ
โรคมารยาททางสังคมบกพร่องคืออะไร
โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง คือ พฤติกรรมการไม่ตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์ปกติจากคนรอบข้าง เช่น มีคนทักก็เฉย มีคนให้ของก็เฉย มีคนแสดงน้ำใจก็เฉย หรือพูดง่ายๆ คือ แสดงท่าทีหยิ่งอย่างจริงจังนั้นเอง นอกจากนี้ยังมีการขาดมารยาทขั้นพื้นฐานไม่รู้จักการสวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ไม่รู้จักแม้กระทั่งการยิ้ม ไม่แสดงออกถึงการมีน้ำใจ และสำหรับผู้ที่มีอาการของโรคมารยาททางสังคมบกพร่องหนักหนารุนแรง จะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม มีความคิดว่าโลกต้องหมุนรอบฉัน ทุกคนต้องทำตามใจฉัน ฉันต้องได้ก่อน ฉันมีสิทธิทำอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นอันตรายมากหากคนผู้นั้นทำตามความคิดของเขา เพราะเมื่อเขาไม่พอใจเขาอาจจะทำร้ายใครก็ได้ หรือหากต้องการสิ่งใดก็อาจขโมยสิ่งนั้นเลยก็ได้
ความหนักหนาของพฤติกรรมข้างต้นนี่เอง ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้างที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกับเขาแน่นอนว่าเจ้าตัวไม่เดือดร้อนคน ที่ป่วยเป็นโรคมารยาททางสังคมบกพร่องที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือ อาชญากรที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เด็กแว๊น สก๊อย เป็นต้น
โรคมารยาททางสังคมบกพร่องเกิดจากอะไร
ทางจิตวิทยา “โรคมารยาททางสังคมบกพร่อง” จัดอยู่ในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติ โดยประกอบด้วยโรคที่เข้าข่าย “มารยาททางสังคมบกพร่อง” 3 โรค ได้แก่
1.โรคต่อต้านสังคม หรือ Antisocial personality disorder
มีลักษณะเด่น คือ มีพฤติกรรมเกเรมากมาตั้งแต่เด็ก ชอบทำตัวเป็นอันธพาล ก้าวร้าว ขี้โมโห หยาบคาย ชอบความรุนแรง ชอบทำร้ายคนอื่น ชอบรังแกสัตว์ ชอบละเมิดสิทธิผู้อื่น เวลาที่โกรธจะชอบใช้กำลังและไม่สามารถระงับอารมณ์ของตัวเองได้ บางรายมีประวัติในการใช้สารเสพติด ชอบทำผิดกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำของตนเอง จัดได้ว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมเลยทีเดียว
2.โรคชอบเรียกร้องความสนใจ หรือ Histrionic Personality Disorder
ฟังดูชื่อโรคเหมือนจะไม่มีผิดไม่มีภัยอะไร แต่แท้จริงแล้วคนที่เป็นโรคนี้มักจะสร้างความเดือดร้อนเรื้อรังให้แก่คนรอบข้างมากกว่าโรคอื่นๆ กล่าวคือ บุคคลที่เป็นโรคนี้มีพฤติกรรมที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้รับความสำคัญและเป็นที่สนใจอย่างมาก โดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งที่ตนเองกระทำลงไปนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีงามหรือไม่
3.โรคหลงตัวเอง หรือ Narcissistic Personality Disorder
มีอาการเด่น คือ มองภาพลักษณ์ของตัวเองว่าเป็นคนที่หล่อ สวย เก่งอย่างที่ไม่มีใครจะเทียบเทียมได้ จนกลายเป็นว่าตัวเองทำอะไรก็ดีไปหมดไม่เคยมีอะไรที่ผิดพลาดเลย คนที่หลงตัวเองต้องการให้คนอื่นยกย่องชมเชยตัวเองตลอดเวลาจนเป็นที่น่าหมั่นไส้ อีกทั้งเป็นคนที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว ตัวเองต้องมาก่อน ชอบเอารัดเอาเปรียบและไม่เคยมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
เทคนิคสอนลูกให้มีมารยาท
คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญในการสอนและส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมสุภาพเรียบร้อย มีมารยาท และปฏิบัติตัวต่อผู้ใหญ่ได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
1. อธิบายและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น
คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจวัฒนธรรมการให้เคารพผู้ใหญ่ รวมถึงอธิบายว่าเด็กที่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและไม่สุภาพย่อมไม่เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้ใหญ่ที่พบเห็น นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เช่น การทำความเคารพญาติผู้ใหญ่ด้วยความนอบน้อม พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพเรียบร้อย ไม่นั่งไขว่ห้างต่อหน้าหรือยืนค้ำศีรษะผู้ใหญ่ เพื่อให้ลูกเรียนรู้และจดจำพฤติกรรมที่เหมาะสมไปปฏิบัติตามเมื่อพบเจอผู้ใหญ่
2. มีข้อตกลงในการทำโทษเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและไม่เหมาะสมต่อหน้าผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตีหรือลงโทษรุนแรงในทันที เพราะจะทำให้ลูกมีความรู้สึกอับอาย และไม่ต้องการเผชิญหน้าผู้ใหญ่คนนั้นอีก
ลองเปลี่ยนวิธีการที่จะทำให้ลูกเข้าใจความผิดของตัวเองด้วยการทำข้อตกลงล่วงหน้า เช่น ถ้าไปเจอคุณย่าแล้วลูกเกเรใส่คุณย่า กลับบ้านมาจะต้องโดนลดเวลาออกไปเล่นนอกบ้าน วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำความผิดเรื่องอื่นๆ แต่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกอับอายต่อหน้าผู้ใหญ่
แต่หากลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจและชื่นชมเพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาทำในสิ่งที่เหมาะสมแล้ว
3. อดทนและสอนลูกแบบค่อยเป็นค่อยไป
การสอนลูกเกี่ยวกับมารยาท คุณพ่อคุณแม่ควรสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 3-5 ขวบ วัยที่นอกจากจะยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมได้แล้ว ยังเป็นวัยที่ชอบแสดงความเป็นตัวของตัวเองด้วยการทดลองทำสิ่งตรงข้ามกับที่คุณพ่อคุณแม่สอน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กและให้เวลาลูกเรียนรู้ความผิดพลาดไปพร้อมๆ กับเรียนรู้พฤติกรรมที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่
4. สอนลูกให้พูดถ้อยคำสุภาพให้ชินปาก
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกมีคำพูดติดปากที่ดี เช่น พูดลงท้ายว่าครับ หรือค่ะ กับผู้ใหญ่ทุกครั้ง และเลือกใช้คำที่สุภาพกว่าในประโยคสนทนากับผู้ใหญ่ เช่น แทนที่ลูกจะบอกคุณครูว่า ‘ขอไปฉี่หน่อยนะ’ ลูกควรพูดกับคุณครูว่า ‘ขออนุญาตไปปัสสาวะนะครับ’
5. ปลูกฝังพฤติกรรมดีๆ ด้วยการใช้นิทาน ข่าว หรือการ์ตูนที่ลูกชอบ
คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกหนังสือนิทาน ข่าว หรือการ์ตูนที่มีตัวอย่างและข้อคิดเกี่ยวกับการมีพฤติกรรมที่ดี ตัวละครมีมารยาทที่ดี เพื่อให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมที่ควรทำผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว และยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย สิ่งสำคัญในการสอนให้ลูกเป็นเด็กที่มีมารยาทและประพฤติตัวเหมาะสมกับผู้ใหญ่คือการสังเกตและตักเตือนเมื่อเห็นลูกทำตัวไม่เหมาะสม และบอกวิธีหรือหาโอกาสให้ลูกได้ลองแก้ไขหรือปรับปรุงตัว พร้อมให้กำลังใจและคำชมเมื่อลูกทำตัวดีอย่างสม่ำเสมอ
มารยาททางสังคมพื้นฐานสอนลูกได้ง่ายนิดเดียว
การปลูกฝังมารยาทที่ดีให้ลูก จะเป็นการเสริมสร้างทักษะความฉลาดทางสังคม (SQ) ลูกจะเติบโตและเรียนรู้เรื่องการเข้าสังคม ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย เคารพผู้อื่น และรู้จักทำเพื่อส่วนรวม ทั้ง 10 มารยาทพื้นฐานที่คุณพ่อคุณแม่สอนลูกได้ง่ายๆ มีดังนี้
1. สอนให้ลูกพูดจาไพเราะ สุภาพอ่อนน้อม ตั้งแต่ลูกเริ่มพูด คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกควรใช้คำที่สุภาพอ่อนโยน ฝึกให้ลูกพูดมีหางเสียง ครับ/ค่ะ ต่อท้ายทุกครั้ง
2. สอนให้ลูกพูดคำว่าขอโทษและขอบคุณ เมื่อเขาทำผิดให้พูดขอโทษ ถ้าได้รับความช่วยเหลือให้พูดขอบคุณกับผู้อื่นเสมอ
3. สอนให้ลูกรู้จักเข้าคิว มีระเบียบวินัย เมื่อพาลูกออกไปนอกบ้าน ไม่ว่าจะพาไปเที่ยวหรือทานอาหารนอกบ้าน ต้องสอนให้เข้าคิว เช่น พาไปต่อแถวซื้อตั๋วขึ้นรถไฟฟ้า ซื้อตั๋วเข้าสวนสัตว์ ซื้ออาหาร จะทำให้เขาเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยของสังคมค่ะ
4. สอนให้ลูกไหว้ผู้ใหญ่อย่างอ่อนน้อม ให้ลูกกล่าวคำทักทายและทำท่าสวัสดีให้ดูไปพร้อมๆ กันทุกครั้ง ลูกจะยกมือทำท่าสวัสดีตาม เวลาเจอใครๆ ก็จะยกมือไหว้สวัสดีทักทายทุกครั้ง
5. สอนให้ลูกไม่ส่งเสียงดังในสถานที่สาธารณะ พ่อแม่ต้องไม่พูดเสียงดังหรือตะโกนคุยกับลูก และบอกลูกเสมอว่าไม่ควรส่งเสียงดังโวยวาย เพราะจะเป็นการรบกวนคนอื่น เป็นกิริยาที่ไม่ดี ไม่ควรทำ
6. สอนให้ลูกไม่โยนของ ขว้างทิ้งของ ไม่ว่าของจะเป็นอะไรควรยื่นส่งให้ดีๆ ต้องอธิบายว่าการโยนเป็นกิริยาที่ไม่ดีและอาจจะทำให้ของตกหล่นเกิดความเสียหายได้
7. สอนมารยาทบนโต๊ะอาหารให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช้อน ส้อม ตะเกียบในการรับประทานอาหาร การเช็ดปาก รวบช้อนเมื่อทานอิ่มแล้ว โดยทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นอยู่เสมอ
8. สอนให้ลูกปิดปากเวลาไอหรือจาม เมื่อลูกไม่สบายให้ใส่หน้ากากอนามัยและเมื่อจามหรือไอ ก็สอนให้ลูกปิดปาก
9. สอนให้ลูกรู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ล้อเลียนหรือไม่วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของคนอื่น นอกจากเป็นคำชมที่ดีสามารถทำได้ค่ะ
10. สอนให้ลูกรู้จักมารยาทในการใช้โทรศัพท์ ให้แนะนำตัวเองก่อน แล้วจึงขอสายคนที่ลูกต้องการสนทนาด้วย และไม่เล่นโทรศัพท์ขณะคุยกับผู้อื่นหรือเล่นเวลาอยู่บนโต๊ะอาหาร
การฝึกสอนมารยาทให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ เป็นการส่งเสริมพัฒนาการทั้ง ด้านอารมณ์ สังคมให้ลูกได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ยิ่งทำให้ลูกปฎิบัติตามได้ง่ายกว่าการบอกหรือสั่งเพียงอย่างเดียว
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็ก
- สอนลูกแต่งตัว เริ่มสอนอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
- หนังสือผ้า ไอเทมเด็ดเสริมจินตนาการและช่วยพัฒนาการลูกน้อย
- การดูแลเส้นผมลูก อย่างไรให้ผมสวยสุขภาพดี
- การเล่นทราย เสริมพัฒนาการและมีประโยชน์ต่อเด็กมากกว่าที่คิด
- ฟองสบู่ Bubble ทำเองก็ได้ ทำเล่นก็ดี มีประโยชน์ต่อเด็กมากมาย
- กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก มีความสำคัญที่พ่อแม่จัดให้ลูกทำได้
ที่มาของบทความ
- https://so06.tci-thaijo.org
- https://aboutmom.co
- https://www.istrong.co
- https://www.parentsone.com
- https://www.istockphoto.com/1
- https://www.istockphoto.com/2
- https://www.istockphoto.com/3